ถึงเธอ…ที่รัฐ (ศาสตร์​) : ชีวิตสามัญชนคนเบื้องหลัง

ถึงเธอ…ที่รัฐ (ศาสตร์​)
ชีวิตสามัญชนคนเบื้องหลัง

ประพีร์ เอกพจน์ เขียน
นัสรีน เจะโส๊ะเจะหลี และ สุราศี สุปรียสกนธ์ สิงห์ดำรุ่นที่ 74 เรียบเรียง

ISBN: 978-616-93929-3-4
ราคา: 170 บาท
จำนวนหน้า: 92 หน้า ปกอ่อน


หนังสือเล่มนี้ได้บอกเล่าประสบการณ์และความทรงจำเกือบเจ็ดสิบปีที่ ‘ป้าติ๋ว’ ใช้ชีวิตในคณะรัฐศาสตร์ จนเกิดเป็นความผูกพันทั้งกับผู้คนและสถานที่แห่งนี้ขึ้น เป็นประวัติศาสตร์ที่มิได้ยึดโยงกับชนชั้นนำ หากแต่เล่าโดยคนธรรมดาสามัญอย่างนักการภารโรง/แม่ครัว ที่มีเรื่องราวที่น่าจดจำไม่น้อยไปกว่าเรื่องเล่ากระแสหลักทั่วไป

ให้หนังสือเล่มนี้เป็นหมุดหมายใหม่ของหน้าประวัติศาสตร์สามัญชนที่ทุกคนมีส่วนสร้างมันขึ้นมา!

“ชีวิตเรามันไม่ได้มีอะไร มันก็มีแต่คณะ มีแต่ชีวิตที่อยู่ในรัฐศาสตร์เท่านั้น ที่พอจะเล่าให้ฟังได้” เป็นประโยคตั้งต้น ที่แสดงความรักความผูกพันที่ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ มีต่อคณะรัฐศาสตร์ เป็นความผูกพันที่แปลกกว่าใคร เพราะเหนือสิ่งอื่นใด “ติ๋ว” เกิด เติบโต และใช้เวลาเกือบทั้งชีวิตที่คณะรัฐศาสตร์

บันทึกชีวิต 70 ปี ในคณะรัฐศาสตร์ ของ “ติ๋ว” นอกจากจะพาเราย้อนกลับไป จินตนาการถึงบรรยากาศเก่า ๆ  เรื่องเล่าผีสางในตำนาน ศาลาสิงห์ดำ คลองอรชร การยกพวกตีกันอันเลื่องชื่อระหว่างวิศวะกับรัฐศาสตร์ ภูมิทัศน์โดยรอบจุฬา สถานเสาวภา ตลาดสามย่านเก่า ที่แปลงร่างเป็นสามย่านมิตรทาวน์ ศาลเจ้าแม่ทับทิม ตลอดจนเหตุการณ์สำคัญทางการเมือง เช่น หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แล้ว ยังฉายภาพสายสัมพันธ์ ความกรุณาระหว่างกันของผู้คนต่างสถานภาพและบทบาท ภายในรั้วคณะแห่งนี้

บางส่วนจากคำนิยม – สิริพรรณ นกสวน สวัสดี

เป็นหนังสือที่อ่านสนุกมาก ช่วยทำให้เราเห็นบรรยากาศในอดีตของคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ได้แจ่มชัดขึ้น ทำให้เราเห็นความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยกันระหว่างอาจารย์-นักการ-นิสิต เป็นมุมมองของคนที่อยู่ล่างสุดของคณะที่พวกเราอาจารย์และนิสิตมักจะมองข้ามเสมอมา

แม้ว่าระบบราชการของจุฬาฯ จะไม่ได้อุปถัมภ์ค้ำชูให้คนแบบป้าติ๋วมีชีวิตความเป็นอยู่มั่นคงเท่าไรนัก แต่แกก็ทำหน้าที่ของแกอย่างเต็มที่เพื่อสมาชิกของคณะรัฐศาสตร์ และมีความรักความผูกพันกับจุฬาฯ อย่างมาก ซึ่งน่าจะมากกว่าอาจารย์และนิสิตส่วนใหญ่ด้วยซ้ำ

คำนิยม – พวงทอง ภวัครพันธุ์

เรื่องราวของป้าติ๋วในเล่มนี้เป็นประวัติศาสตร์ที่มีชีวิต ไม่ใช่เพราะว่ามันเป็นเรื่องเล่าของคนที่ยังมีชีวิต แต่ความมีชีวิตชีวาของมันยังบอกกับเราด้วยว่าในท้ายที่สุดแล้วชีวิตคืออะไร ชีวิตที่มีประวัติศาสตร์ของป้าติ๋วได้เชื่อมร้อยความงดงามของความผูกพันระหว่างผู้คน พื้นที่ ผีสาง และกลิ่นรสของอาหาร ฯลฯ มันบอกเล่าถึงการพึ่งพาอาศัย การทะเลาะเบาะแว้ง การเติบโต ความอิ่มท้องอิ่มใจ การพลัดพรากจากลา และการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันของผู้คนต่างวัย ต่างประสบการณ์ และต่างที่มา ประวัติของชีวิตที่งดงามและถ่อมตนเล่มนี้ ยังชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่กว้างออกไปของภูมิทัศน์ทางกายภาพและทางสังคมของชุมชนทั้งในและรอบจุฬาฯ อีกด้วย

คำนิยม – จักรกริช สังขมณี