Conscientious Objection, Resisting Militarized Society

ต้านเกณฑ์ทหาร: รวมบทความนานาชาติ

Conscientious Objection, Resisting Militarized Society

บรรณาธิการฉบับภาษาอังกฤษ: เอิซกืร์ เฮวัล ชึนาร์ และโจชคุน อืสแตร์จี (Ozgur Heval Cinar and Coskun Usterci) 

คณะผู้แปล: ภาคิน นิมมานนรวงศ์, ต่อศักดิ์ จินดาสุขศรี, ธรรมชาติ กรีอักษร และพีระ ส่องคืนอธรรม


สำนักพิมพ์สำนักนิสิตสามย่าน ภูมิใจนำเสนอ “ต้านเกณฑ์ทหาร: รวมบทความนานาชาติ” หนังสือวิชาการแปลเกี่ยวกับการต่อต้านการเกณฑ์ทหาร หรือ ‘การคัดค้านโดยมโนธรรม’ (Conscientious Objection) เล่มแรกของประเทศไทย แม้เราจะมีการเกณฑ์ทหารมาไม่ต่ำกว่าร้อยปีก็ตาม 

หนังสือเล่มนี้ได้ฉายให้เราเห็นว่ามีประวัติศาสตร์ของการต่อต้านการเกณฑ์ทหาร พาเราฉีกกระชากลงไปที่ตัวโครงสร้างของสถาบันทหารและสถาบันการเมืองที่ค้ำจุนระบบเกณฑ์ทหารไว้ บางลักษณะก็มีความคล้ายคลึงกับสังคมไทยมากทีเดียว และอาจจะรุนแรงกว่าเราด้วยซ้ำไป

หนังสือเล่มนี้เหมาะสมอย่างยิ่งในช่วงเวลาของยุคเผด็จการทหารไทย การอ่านจะทำให้เราเห็นหนึ่งในใจกลางของปัญหานั่นคือระบบการเกณฑ์ทหาร และหนทางที่จะเอาชนะมันจากบทเรียนนานาประเทศ

– เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล คำนำเสนอ

#ต้านเกณฑ์ทหาร มีต้นกำเนิดมาจากตุรกี แปลมาจาก ‘Conscientious Objection: Resisting Militarized Society’ ตีพิมพ์เมื่อปี 2009 เนื้อหาส่วนใหญ่แปลมาอีกต่อจาก Çarklardaki Kum: Vicdani Red – Düşünsel Kaynaklar ve Deneyimler (โคลนติดล้อ: การคัดค้านการเกณฑ์ทหารโดยมโนธรรม – ที่มาเชิงปรัชญาและประสบการณ์) ซึ่งรวบรวมจากการประชุมนานาชาติที่ตุรกีเมื่อปี 2007 

หนังสืออาจจะมีอายุไปบ้าง แต่ผู้จัดทำได้ปรับเนื้อหาให้ทันสมัยยิ่งขึ้น เพิ่มเชิงอรรถที่ให้ภาพรวมหรือตัวอย่างความเปลี่ยนแปลงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และได้รับอนุมัติจากเจ้าของลิขสิทธิ์ให้เพิ่มเนื้อหาบทใหม่เกี่ยวกับประเทศไทยโดย ธรรมชาติ กรีอักษร ที่เล่าประวัติศาสตร์แนวคิดการยกเลิกเกณฑ์ทหารในประเทศไทย พร้อมเพิ่มเติมเนื้อหาหลังคำตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่

บางคนอาจรู้สึกว่า หน้าปกสีชมพูดูจะแปลกถ้าดูชื่อหนังสือ ‘ต้านเกณฑ์ทหาร’ แต่หากดูการวิเคราะห์ในหลายบทที่คำนึงถึงเรื่อง เพศสภาพ, ปิตาธิปไตย และการเหยียดผู้มีความหลากหลายทางเพศ คงจะเป็นเหตุผลพอที่จะ ‘ชิง’ สีชมพูเพื่อชูธงในประเทศที่กองทัพยังไม่ ‘Pinkwashing’ หรือทำเป็นสร้างภาพลักษณ์เปิดกว้างต่อกลุ่มต่างๆ เพื่อธำรงไว้ซึ่งนโยบายอันกดขี่ไว้