ความรับผิดชอบส่วนบุคคลของมนุษย์ใต้เผด็จการ
Personal Responsibility Under Dictatorship
ผู้เขียน: ฮันนาห์ อาเรนท์
ผู้แปล: เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล และวศินี พบูประภาพ
เราสามารถอ้างว่า “โดนนายสั่งมา” และอ้างต่อว่าไม่สามารถขัดขืนคำสั่งนั้นได้ เพื่อปัดความรับผิดชอบในอาชญากรรมที่เราได้ก่อขึ้นได้หรือไม่?
หนังสือ ความรับผิดชอบส่วนบุคคลของมนุษย์ใต้เผด็จการ เขียนขึ้นในปี 1964 หลังหนังสือเล่มสำคัญของฮันนาห์ อาเรนท์ Eichmann in Jerusalem เผยแพร่ในปี 1963 ในหนังสือเล่มที่เผยแพร่ก่อน อาเรนท์ได้ตีแผ่การไต่สวน อดอล์ฟ ไอช์มานน์ ผู้รับผิดชอบการส่งชาวยิวไปที่ค่ายกักกันอันโหดเหี้ยมในโปแลนด์ เขาถูกไต่สวนในศาลในเยรูซาเรม และอ้างในศาลว่าเขาเพียง “ปฏิบัติหน้าที่” หรือ “คำสั่ง” ที่ได้รับมา หรือการปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ควรทำมิใช่หรือ? เขาก็เป็นแค่เพียง “ฟันเฟือง” ตัวหนึ่งของรัฐเท่านั้น และเขาก็ไม่สามารถขัดขืนได้
อ่าน ๆ ดูแล้วก็เหมือนกับคำพูดที่ว่า “โดนนายสั่งมา”, “มันจำเป็นต้องทำ”, “ทำสิ่งที่เลวน้อยกว่า” (ซึ่งคนที่พูดก็มักจะลืมว่าสิ่งนั้นก็ ‘เลว’ อยู่)
อาเรนท์ได้ชี้ให้เห็นว่าปัญหาของข้ออ้างแบบนี้นำไปสู่อาชญากรรมที่ร้ายแรง โดยมีไอเดียที่สำคัญคือ “Banality of Evil” ที่บอกว่ามนุษย์คนนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นคนชั่วร้ายเพื่อจะทำเรื่องเลวร้าย เพียงแต่เขาคนนั้น “เฉยชา” ต่อการกระทำ กฎ หรือคำสั่งต่าง ๆ โดยไม่เคยคิดหรือตั้งคำถามเลยว่ามันชั่วร้ายขนาดไหน และทำตามไปเพราะเป็นหน้าที่
หนังสือเล่มที่กำลังโปรโมตนี้ อาเรนท์จะมาตอบคำถามว่า ทำไมเราจึงไม่อาจอ้างเช่นนี้เพื่อปฏิเสธความรับผิดชอบได้อย่างสมเหตุสมผล
และตอนนี้ เรียงความขนาดไม่ยาวมากซึ่งเขียนออกมาล่วงกว่าครึ่งศตวรรษได้เดินทางมาสู่ผู้อ่านในไทย และกำลังเรียกร้องให้ผู้คนในสังคมไทยตระหนักถึง “ความรับผิดชอบส่วนบุคคล” ของตนเองที่จะคิด สงสัย ไม่เชื่อ และรักษาความเป็นตัวเอง รวมถึงไม่ร่วมสังฆกรรมกับระบอบอันเลวร้ายที่ดำรงอยู่ในขณะนี้
คำนิยม
“อาเรนท์ชวนเราตั้งคำถามว่า บุคคลแต่ละคนจะอ้างได้อย่างสมเหตุสมผลจริงหรือว่า เพียงเพราะ “ความจำเป็น” ที่ต้องทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา หรือคำสั่งของอำนาจเผด็จการเพื่อปฏิเสธความรับผิดชอบทางศีลธรรมและกฎหมายในกรณีที่การทำตามคำสั่งนั้น เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของคนอื่น (เช่น กรณีที่ถูกสั่งให้ฆ่าชาวยิว) เพราะเรายังต้องถามต่อได้ว่า คำสั่งนั้น “ชอบธรรม” หรือไม่ หรือคำสั่ง นั้นมีสถานะเป็น “กฏหมาย” ได้หรือไม่ หากไม่ชอบธรรมหรือไม่มีสถานะ เป็นกฎหมายได้ หน้าที่ของเราในฐานะปัจเจกบุคคลที่สามารถจะมี “สามัญสำนึก” ทางศีลธรรมก็คือการปฏิเสธที่จะทำตามคำสั่งเช่นนั้นไม่ใช่หรือ”
— สุรพศ ทวีศักดิ์ คำนิยม
การกลับมาคิดเรื่อง ความเป็นนายตัวเองและความรับผิดชอบ ถือเป็นสิ่งสำคัญไม่ว่าจะอยู่ในบริบทการเมืองไหน ๆ และโดยเฉพาะเมื่อสังคมรู้สึกถูกข่มเหงและไร้อำนาจ บทแปลงานเขียนของอาเรนท์ชิ้นนี้ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่มาถูกเวลาและมีความหมาย ผมแน่ใจว่ามันจะไปถึงผู้อ่านที่กระหายใคร่รู้เรื่องนี้หลายคนแน่นอน
— Sebastien Veg คำนิยม